เรียนรู้จากเซียนหุ้น


เซียนหุ้นในอดีตและปัจจุบันมีวิธีการอย่างไร ที่ทำให้สามารถลงทุนได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่ามหาศาล เรามาศึกษาดูได้จากเซียนเหล่านี้กันครับ ผมรวบรวมมาให้ไว้อ่านกันแล้วหลายๆ ท่านนะครับเช่น

เบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham)
วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffet)
ปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch)
ฟิลลิป ฟิชเชอร์ (Philip A. Fisher)
จอห์น เนฟฟ์ (John Neff)
เซอร์ จอร์น เทมป์เพิลตัน (Sir. John Templeton)



เบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham)




ถ้าใครรู้จักป๋าวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffet) แต่ไม่รู้จักเบนจามิน เกรแฮม ก็ต้องเรียกว่าไม่รู้จักกันจริง เพราะเขาผู้นี้เป็นอาจารย์ของบัฟเฟตต์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียนั่นเอง เบนจามิน เกรแฮมไม่ได้เป็นคนร่ำรวยแต่กำเนิด ในทางตรงกันข้ามกลับอยู่ในครอบครัวที่มีปัญหาทางการเงิน ซ้ำมารดาซึ่งเข้า "เล่นหุ้น" ด้วยวิธีมาร์จินก็ประสบความขาดทุนอย่างหนักกับตลาดหุ้นนิวยอร์ค ดังนั้นเขาจึงโตมากับความหวาดระแวงในการลงทุน นี่ก็อาจจะเป็นเหตุให้เบนจามินหาวิธีลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัยด้วยการประเมินมูลค่าของกิจการที่นักลงทุนจะเข้าซื้อหุ้นนั่นเอง
เบนจามิน เกรแฮม เสนอหลักการในการแบ่งประเภทของนักลงทุนออกเป็นสองแบบใหญ่ๆ คือ:
1) ประเภทปลอดภัยไว้ก่อน หรือพวกตั้งรับ (เรียกว่า Defensive Investor)
2) ประเภทบู๊ คือกล้าได้กล้าเสีย (ภาษาฝรั่งเรียก Enterprising Investor)
นักลงทุนทั้งสองประเภทนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่เป็นเหมือนตัวนักลงทุนเอง
คงอาจจะด้วยความที่เบนจามินเคยอยู่ในครอบครัวที่เคยประสบกับปัญหาทางการเงิน (ส่วนหนึ่งก็มาจากตลาดหุ้น) เขาจึงคิดค้นทฤษฎีในการลงทุนด้วยการพิจารณาที่มูลค่าที่แท้จริงของกิจการ (Value หรือ Net Asset Value - NAV) ว่ามีค่าเป็นเท่าไรต่อหุ้น หากเราสามารถซื้อหุ้นนั้นได้ถูกกว่าค่านี้ ก็หมายถึงว่าสามารถซื้อได้ในราคาที่มีส่วนลด (เรียก Discount) และเขาเชื่อว่า ในระยะยาวแล้ว ราคาของหุ้นจะต้องปรับไปสู่ราคาที่เหมาะสมของมัน (อาจจะอิงกับ Book Value) เสมอ และนักลงทุนก็สามารถขายหุ้นนั้นออกไปในราคาที่มีกำไรจากส่วนต่าง (หากต้องการจะทำ)
แม้ว่าเบนจามิน เกรแฮมจะเป็นอาจารย์ของวอร์เรน บัฟเฟต แต่ก็ต้องนับว่าบัฟเฟตนั้นเป้น "อภิชาติศิษย์" (คือได้ดีกว่าอาจารย์) เพราะได้นำหลักการของเบนจามินไปประยุกต์อีกชั้นหนึ่ง โดยตัวของเบนจามินเองนั้น จะมองมูลค่าของบริษัทจริงๆ โดยไม่ได้มองธุรกิจหรือความสามารถในการดำรงอยู่, การแข่งขัน, หรือพื้นฐานของธุรกิจนัก แต่ลูกศิษย์ของเขาได้ประยุกต์นำสิ่งเหล่านี้เข้ามาประเมินด้วย
ผลงานเขียนหนังสือที่โด่งดังของ เบนจามิน เกรแฮม เช่น Security Analysis (เขียนกับ David Dodd ซึ่งเป็นผู้ช่วยของเขา) และ The Intelligent Investor



วอร์เร็น บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)




ในโลกของการลงทุน คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก วอร์เรน บัฟเฟตต์ เนื่องจากลูกศิษย์ของปรมาจารย์ เบน เกรแฮม ผู้นี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการลงทุนในรูปแบบของการยึดคุณค่าของกิจการเป็นหลักในการ "พิจารณา" ความถูกหรือแพงของราคาหุ้น
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียงน้อยนิด หลังจากนั้นจึงได้รวบรวมเงินจากสมัครพรรคพวกเพื่อการลงทุน โดยตั้งตัวเป็นผู้จัดการกองทุนเสียเอง ซึ่งผลการดำเนินงานก็เป็นไปได้ด้วยดี จนกระทั่งถึงปี 1964 จึงเลิกกองทุนส่วนตัวนี้ไปเพราะว่าราคาหุ้นได้เพิ่มสูงขึ้นมาก (ซึ่งแน่นอน ว่าสูงกว่ามูลค่าจริงของกิจการ) กระทั่งเริ่มมีความเสี่ยงสูงมากจึงเลิกล้มไป วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัทสิ่งทอชื่อว่าบริษัท Berkshire Hathaway ซึ่งต่อมาบางคนบอกว่าเป็นความผิดพลาดอันเป็นกุศล เพราะต่อมาบริษัทนี้ก็ได้กลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ ที่เข้าถือหุ้นในหลายๆบริษัท
แนวทางการลงทุนของ บัฟเฟตต์ จะมองว่าการซื้อหุ้นเป็นเหมือนการเข้าร่วมเป็นเจ้าของบริษัทด้วย ดังนั้นเขาจะใช้มุมมองของผู้ที่จะเข้าเป็นเจ้าของธุรกิจ มากกว่าการที่มองเห็นหุ้นเป็นเพียงสินค้า (คือซื้อมา แล้วก็ขายไป) เขาจะต้องรู้แน่ชัดว่ากิจการนั้นทำอะไร มีอะไรเป็นผลิตภัณฑ์ ใครเป็นลูกค้า โครงสร้างรายจ่ายและรายได้เป็นเช่นไร อัตรากำไรเป็นเท่าไร มีคู่แข่งมากหรือไม่ แข่งกันด้วยอะไร (ราคา หรือความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์) เป็นต้น ดังนั้น บัฟเฟตต์ จะไม่ค่อยลงทุนในกิจการที่ซับซ้อนจนตัวเขาเองไม่สามารถเข้าใจได้ เขาเองยังบอกว่า เมื่อซื้อหุ้นแล้ว แม้กระทั่งตลาดจะปิดไปสัก 10 ปีก็คงไม่รู้สึกอะไร นั่นคือเขาไม่ได้สนใจในตลาดเลยเนื่องจากมั่นใจในธุรกิจที่ได้ลงทุนไป และไม่จำเป็นต้องให้ใครมารู้เห็นด้วย (คือไม่สนใจราคาหุ้นในตลาดนั่นเอง)
นอกจากนั้น วอร์เรน บัฟเฟต์ ยังมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชีวิต อย่างเช่นการตั้งบริษัท การเข้าซื้อบริษัท หรือการทำกิจการใดๆ ในชีวิตคนเราจะมีได้ไม่มากคือเพียงไม่เกิน 20 ครั้งเท่านั้น ดังนั้นแล้วเขาจะพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบมาก เพราะหากว่าผิดพลาดพลั้งไป อาจจะไม่มีโอกาสให้ได้ทำอีก (ถ้าเกิด "เจ็บตัว" มากจนล้มแล้วลุกไม่ได้)
หลักการเลือกลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์:
1. เป็นธุรกิจหรือบริษัทที่ไม่ซับซ้อน
กิจการประเภทง่ายๆ ไม่วุ่นวายนี้ จะสามารถบริหารจัดการได้อย่างง่ายๆ ไม่ต้องใช้เทคนิคบุคคลากรพิเศษมากมายนัก รวมทั้งตัวแปรในการทำธุรกิจก็ไม่มาก ผลที่ได้คือมีความผันผวนต่ำ สามารถทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำอย่างคงเส้นคงวา
2. เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมแข็งแกร่ง
เช่นมียี่ห้อหรือตราสินค้าที่แข็งแกร่ง มีการบริการเป็นพิเศษที่หาจากที่อื่นไม่ได้ เรียกว่ามี "ค่าความนิยม" สูง ทำให้ไม่ต้องแข่งขันกันด้วยราคา แม้ว่าจะมีการปรับราคาบ้าง หรือว่าราคาสูงกว่าคู่แข่งบ้าง ลูกค้าก็ยังยินดีที่จะซื้อหาอยู่เช่นเดิม
3. สามารถคาดเดาได้
คือสามารถคาดเดาผลการดำเนินงานได้ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากการที่ไม่ซับซ้อนของธุรกิจนี่เอง ทำให้รายจ่าย รายได้เป็นแบบตรงไปตรงมาและขึ้นอยู่กับไม่กี่ปัจจัย
4. ผลตอบแทนจากส่วนของเงินลงทุนสูง (ROE)
ส่วนของเงินลงทุนนี้ ก็คือส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ Equity ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง บัฟเฟตต์ ให้ความสำคัญกับตัวเลขนี้ค่อนข้างมาก กล่าวคือน่าจะต้องมากกว่า 12% สำหรับธุรกิจประเภทผลิตสินค้า แต่หากเป็นธุรกิจสถาบันการเงินแล้ว ค่าตัวเลขนี้ปกติจะสูงมาก บัฟเฟตต์ จึงแนะนำให้ดูที่ตัวเลขของผลตอบแทนรวมของสินทรัพย์ (ROA) ซึ่งหากว่าสูงกว่า 1% แล้วก็ถือว่าดี
5. มีกระแสเงินสดที่ดี
ธุรกิจที่ดี ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนสูงมากในการดำเนินงานและรักษาสถานภาพในตลาดเพื่อการแข่งขันไว้ได้ ทั้งนี้ จะต้องขึ้นกับตัวของลักษณะธุรกิจ, สินค้า, และบริการของธุรกิจนั้นเองเป็นหลัก
6. มีผู้บริหารที่ดี เห็นแก่ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ
ธุรกิจที่ดี มีธรรมชาติของธุรกิจที่ดี เมื่อมีผู้บริหารที่ดีเข้ามาบริหาร ก็ย่อมเหมือนเสือติดปีก ทำให้บริษัทสามารถเจริญก้าวหน้าไปได้ไกล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้บริหารเหล่านั้น ตระหนักถึงการสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นแล้ว ย่อมจะทำให้บริษัทเจริญก้าวหน้าไปได้มาก
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นคนที่คิดว่าในการลงทุนหรือซื้อของ จะต้องมีส่วนต่างเพื่อความปลอดภัยเอาไว้ด้วย เพราะหากเราได้เผื่อค่านี้เอาไว้มากแล้ว (คือเผื่อทางด้านมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ กับราคาที่ซื้อ) ครั้นคราวจะขาดทุน ก็จะไม่มากนัก มูลค่าที่แท้จริงของกิจการ บัฟเฟตต์ มักจะใช้เครื่องมือคำนวณทางการเงินที่เรียกว่า "วิธีส่วนลดกระแสเงินสด" (Discount Cash Flow) ในการหามูลค่าของกิจการ ซึ่งจะเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ปราศจากความเสี่ยงเช่นกับ T-Bill (ก็พันธบัตรรัฐบาลหรือ Government Bond นั่นแหละ ผมเรียกให้เท่ห์ไปอย่างนั้นเอง) หากว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอยู่มากๆ บัฟเฟตต์ ก็จะพิจารณาเข้าซื้อหุ้นนั้นหรือแม้กระทั่งทั้งบริษัทได้
แต่ ระดับป๋า วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ยังอาจจะขายหุ้นได้ถ้า:
1. มูลค่าที่แท้จริงของกิจการไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น นั่นคือไม่มี Contribute จากการดำเนินงานเมื่อเวลาผ่านไป
2. ราคาตลาดของกิจการ (ราคาหุ้นนั่นแหละ) สูงเกินกว่ามูลค่าของกิจการไปมาก อันนี้ บัฟเฟตต์ อาจจะขายหุ้นออกมา และซื้อกลับคืนเมื่อราคาตกต่ำลงมาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเขาเชื่อว่า เมื่อราคาสูงเกินไป มันจะต้องกลับมาอยู่ที่พื้นฐานของมันเสมอ
กฏของป๋า:
1. อย่าขาดทุน
2. อ่านกฏข้อที่ 1 ให้ขึ้นใจ และพยายามทำให้ได้
3. การลงทุนแบบที่คิดว่าเราทำธุรกิจ เป็นการลงทุนอย่างฉลาดที่สุด
4. ธุรกิจที่ดี อาจจะไม่ได้หมายถึงการลงทุนที่ดี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับราคาที่เราได้ลงทุนไป
นอกจากแนวความคิดต่างๆข้างต้นที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังมีตำรับตำราอีกหลายเล่มที่กล่าวถึงการคิดคำนวณมูลค่าของกิจการ ซึ่งผมมือเก่าหัดขับ จะได้นำมาเสนอให้ท่านได้อ่านในคราวต่อๆ ไปเมื่อมีโอกาสครับ



ปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch)




หากพูดถึงกองทุนแม็คเจ็ลลัน หลายคนอาจจะคุ้นหู ลินช์เคยเป็นผู้บริหารกองทุนนี้และสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงมากในระดับ 29% แบบทบต้นในระยะเวลา 13 ปีที่เขาบริหารงานอยู่ กลยุทธ์ของลินช์คือการสามารถแบ่งประเภทของหุ้นออกเป็นหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบหรือประเภทก็มีลักษณะเฉพาะตัว (ซึ่งแน่นอนว่าจะสะท้อนออกมาในรูปของราคาซื้อขายด้วย) ดังนี้:
1) หุ้นโตช้า พวกนี้โตไปเรื่อยๆ เปื่อยๆ จ่ายปันผลเรื่อยๆ เรียกว่าเป็นหุ้นห่านทองคำได้หากว่าการจ่ายปันผลนั้นสม่ำเสมอ ผู้ลงทุนจะต้องทำการตรวจดูว่าประวัติการจ่ายปันผลนั้นเป็นอย่างไร เป็นกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากหรือพันธบัตร (ซึ่งเป็นผลตอบแทนแบบไร้ความเสี่ยงต่อเงินต้น แต่อาจจะไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ!) หุ้นพวกนี้มักจะเป็นหุ้นในอุตสาหกรรมอาหาร, เกษตร, ของใช้เครื่องนุ่งห่ม, เสื้อผ้ารองเท้า เป็นต้น
2) หุ้นโตเร็ว ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นหุ้นโตเร็ว แต่ที่สำคัญก็คือ นักลงทุนที่เข้าไปสนใจหุ้นประเภทนี้จะต้องรู้ว่าเจ้าหุ้นโตเร็วนี้จะโตไปได้อีกสักเท่าไร ไม่ใช่ว่าปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่มันจะโต แล้วก็พรวดพราดเข้าไปซื้อ แบบนี้มีโอกาสสูงที่จะเจ็บตัวได้ (ขึ้นกับราคา และผลตอบแทนรวมที่คาดคะเนไว้ขณะที่เข้าซื้อด้วย) ถ้าเราสนใจจะลงทุนในหุ้นประเภทนี้ ก็จะต้องแน่ใจว่ามันยังโตไปได้อีกอย่างน้อยก็ 4-5 ปี ปรมาจารย์ลินช์บอกไว้ว่า หุ้นพวกนี้น่าจะมี PEG ไม่เกิน 1 คือเอาค่าอัตราส่วน P/E หารด้วยอัตราการเจริญเติบโต (เป็นร้อยละ) แล้วไม่เกิน 1 นั่นเองครับ แต่ถ้านักลงทุนบ้านเรา สามารถหาหุ้นเหล่านี้ได้ที่ราคา "ถูก" กว่านี้ก็น่าสนใจ ในเมืองไทย หุ้นเหล่านี้คงอยู่ในหมวดยานยนต์, สื่อสาร ครับ
3) หุ้นประเภทแข็งแรง พวกนี้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ "อึดทน" ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจได้ดี เรียกว่าไม่พังครืนลงมาง่ายๆ นักลงทุนที่ไม่อยากหวาดเสียวกับความสามารถในการอยู่รอดของบริษัทที่ตนเองเป็นเจ้าของ ก็น่าจะมองหุ้นกลุ่มนี้ไว้บ้าง บริษัทพวกนี้อาจจะไม่เติบโตรวดเร็วมากหรือก้าวกระโดดนัก แต่ข้อดีของเขาก็คือความเสี่ยงจะต่ำเนื่องจากไม่ได้เติบโตแตกกิ่งก้านไปในทิศทางที่ตนเองอาจจะไม่ถนัดในการทำธุรกิจ (Core Business) ข้อเสียก็คือ มันจะไม่ "โดด" ในเรื่องของผลประกอบการ นั่นก็คือราคาของมันจะไม่ "โดด" ไปด้วยไงล่ะครับ หากซื้อหุ้นพวกนี้มา ดังนั้นหากเล่นเก็งกำไร ถ้าได้กำไรสัก 20% ก็ทะยอยปล่อยของได้แล้วครับ แต่หากเป็นนักลงทุนระยะยาวๆ ก็สามารถถือไปได้เรื่อยๆ บางทีฝรั่งมังค่าก็เรียกหุ้นประเภทนี้ว่าบลูชิพครับ
4) หุ้นวัฎจักร อันนี้เรียกได้ว่าสนุกสนาน เพราะทั้งยอดขาย กำไร ต่างๆนาๆของบริษัทพวกนี้จะ "วน" เป็นวงจร นั่นคงไม่ได้ขึ้นไปเรื่อยๆ (หรือลงไปเรื่อยๆ) แต่นักลงทุนที่จะเข้าลงทุนหุ้นพวกนี้ จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักอุตสาหกรรม, ความต้องการ, อุปสงค์/อุปทาน ของสินค้าชนิดนั้นเป็นอย่งดี จึงจะสามารถทำกำไรได้ วงจรชีวิต (พูดเหมือนของลูกน้ำ ยุง กบเขียดเลย) ของหุ้นเหล่านี้ก็จะขึ้นกับอุตสาหกรรมนั้นๆ อาจจะทุกๆ สองปี สี่ปี หรือห้าหกปี ก็ได้
5) หุ้นฟื้นตัว อันนี้ก็เหมือนกับ (เกือบ) ตายแล้วเกิดใหม่นั่นเอง เช่นบริษัทอาจจะเกิดปัญหาใดๆ ทำให้ผลการดำเนินงานประสบกับภาวะขาดทุน แต่ไม่ได้มีปัญหากับพื้นฐานของอุตสาหกรรมของตัวเอง ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะสามารถหาวิธีปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มทุน เพื่อทำให้มีเงินสดหมุนเวียนในการทำธุรกิจ ตลอดจนสามารถใช้หนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายและหนี้สินที่มีอยู่ให้น้อยลงหรือหมดไป กระทั่งสามารถทำกำไรได้ หุ้นเหล่านี้ก็คือหุ้นฟื้นตัวหรือที่เรียกว่า Turnaround Stock นั่นเอง หากนักลงทุนต้องการลงทุนในหุ้นประเภทนี้ จะต้องศึกษาให้ดีว่าการที่บริษัทมีปัญหาแต่แรกนั้น เกิดจากอะไร พื้นฐานของการทำธุรกิจเพื่อให้ได้กำไรนั้นได้เปลียนไปหรือไม่ และหนทางที่จะได้ทุนเพิ่มเติมมาเพื่อทำงานต่อไปนั้นเป็นไปได้เพียงใด ซึ่งถ้านักลงทุนสามารถเข้าไปซื้อหุ้นประเภทนี้ในขณะที่ราคาต่ำเตี้ยเกือบจมแผ่นดินแล้ว ก็สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนได้อย่างมหาศาล แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าหุ้นเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
6) หุ้นสินทรัพย์ นี่เป็นหุ้นของบริษัทที่มีทรัพย์สินมาก คือมีทรัพย์สินมาก และหนี้สินน้อย (ส่วนต่างของของสองอย่างนี้เยอะ) บางครั้งหุ้นประเภทนี้ไม่รู้จักการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ไปทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น (ซึ่งหากทำได้ ก็จะกลายเป็นหุ้นโตเร็ว หรือหุ้นแข็งแกร่งไปแล้ว) ก็ได้แต่เก็บสะสมเอาไว้ จุดสำคัญอยู่ตรงประเภทของทรัพย์สินว่าสามารถเปลี่ยนเป็นเงิน หรือเป็นสิ่งใดๆ ที่สามารถเป็นผลตอบแทนอย่างเป็นรูปธรรมให้กับผู้ถือหุ้น (เช่นเงินสดไง) ได้หรือไม่ หากได้ เมื่อถึงวันหนึ่งก็จะมีคนเห็นว่าบริษัทพวกนี้มีทรัพย์สินเยอะ อาจจะเข้ามาหาวิธีการใดๆ ที่จะนำทรัพย์สินเหล่านั้นมา "คืนกำไร" แก่ผู้ถือหุ้นโดยตรง อย่างไรก็ตาม หุ้นพวกนี้จะต้องมีทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานตามปกติ, สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ง่าย และมีหนี้น้อยจริงๆ ครับ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นประเภทของหุ้นที่ปีเตอร์ ลินช์มองอยู่ พวกเราที่เป็นนักลงทุนก็สามารถที่จะศึกษาดูว่าบริษัทใดในบ้านเรามีลักษณะดังกล่าวบ้าง และสามารถตัดสินใจเข้าไปลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม การเข้าไปลงทุนนั้นจะต้องประเมินผลตอบแทนให้คุ้มกับความเสี่ยงและเหมาะกับตัวเราเองด้วยครับ



ฟิลลิป ฟิชเชอร์ (Philip A. Fisher)




ออกจะตรงกันข้ามกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เพราะในขณะที่บัฟเฟตต์ไม่ชอบซื้อหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ดูเหมือนหุ้นหลักที่ ฟิชเชอร์ สนใจจะเป็นหุ้นในกลุ่มนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันอยู่คือ เมื่อได้หุ้นมาแล้วก็มักจะถือไว้เป็นเวลานาน
ฟิชเชอร์ประสบความสำเร็จในการลงทุนอย่างงดงามกับบริษัท Texas Instrument ตั้งแต่เมื่อยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เขาซื้อหุ้นนี้ที่ราคาต่ำกว่า 3 เหรียญและหลังจากนั้นราคาก็ขยับขึ้นมาเรือยๆ ถึงกว่า 200 เหรียญสหรัฐฯ นับได้ว่าเป็นผลตอบแทนเกิน 7000% เลยทีเดียว!
ในความเป็นจริงแล้ว ฟิชเชอร์ เมื่อยังอายุไม่มาก ฟิชเชอร์มักแนะนำลูกค้าและคนอื่นๆให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มบริษัทที่เรียกว่าไม่ต้องใช้เทคโนโลยีมากนัก (Low Tech นั่นแหละ) แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาสนใจในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้นและเริ่มลง ทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ซึ่งนั่นก็เกิดขึ้นก่อนที่จะมีสิ่งประดิษฐ์ทางซิลิกอน (ทรานซิสเตอร์, ไอซี) และก่อนหน้าที่จะเกิด Silicon Valley ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นเวลากว่า 40 ปี
หลักการเลือกบริษัทที่จะลงทุนของ ฟิชเชอร์:
1. ต้องมีข้อมูล คือหาข้อมูลจากทุกที่เช่นหนังสือพิมพ์ รายงานบริษัท จากวารสารต่างๆ ตลอดจนคุยกับผู้บริหาร, พนักงานและผุ้เกี่ยวข้องในธุรกิจ และเข้าเยี่ยมชมกิจการของธุรกิจนั้นๆ ทั้งที่สำนักงานใหญ่และสาขาย่อยเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ
2. ต้องมีเหตุผลเพียงพอในการเข้าซื้อ นั่นคือถามตัวเองดังต่อไปนี้:
2.1) สินค้าและบริการของบริษัทมีศักยภาพที่ดีในตลาดหรือไม่ คือจะอยู่รอดและเติบโตได้ดีเพียงใด
2.2) บริษัทมีแผนการในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ หมายความว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เก่าจะต้องยังคงอยู่ในตลาดได้ (มือเก่าหัดขับ: คือเป็นการเติบโต ไม่ใช่การทดแทนหรือ Replace เพราะนั่นหมายถึงว่าการเติบโตไม่ได้ดีนัก หรือเป็นการทำเพื่ออยู่รอดเท่านั้นเอง)
2.3) มีการวิจัยพัฒนามากน้อยเพียงใด (มือเก่าหัดขับ: ข้อนี้ต้องพิจารณาให้ดีด้วย เนื่องจากหากเป็นการพัฒนาเพียงเพื่อการลดค่าใช้จ่ายเพื่อการอยู่รอด เนื่องจากธุรกิจมีการแข่งขันสูงมาก อาจจะกลายเป็นผลลบเนื่องจากกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากได้)
2.4) กำไรขั้นต้นเป็นอย่างไร (มือเก่าหัดขับ: ข้อนี้สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างของค่าใช้จ่ายกับรายได้ หากกำไรขั้นต้นต่ำ ทั้งที่ยอดขายสูง แสดงว่า Fix Cost ค่อนข้างสูง หากยอดขายตกลงเพียงเล็กน้อย อาจจะทำให้บริษัทถึงกับขาดทุนได้)
2.5) ความสามารถของหน่วยงานขายเป็นเช่นไร
2.6) ความสามารถในการรักษาหรือเพิ่มกำไรขั้นต้นให้สูงขึ้น (มือเก่าหัดขับ: บริษัทสามารถเพิ่มกำไรขั้นต้นได้หลายวิธี ที่เห็นได้ชัดคือด้วยการลดค่าใช้จ่าย อาจจะเป็นด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตใหม่ๆ หรืออาจจะด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ล้ำสมัยไร้คู่แข่ง ทำให้สามารถตั้งราคาได้ตามต้องการ เป็นต้น)
2.7) มีปัญหากับแรงงานภายในหรือไม่ (มือเก่าหัดขับ: เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะกับบริษัทที่ต้องการพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถเฉพาะทางและหาได้ยาก เช่นนักบิน, วิศวกรผู้ออกแบบหรือวิจัยสิ่งต่างๆ หากพนักงานเหล่านี้มีปัญหากับบริษัท จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ได้ ดังที่เราเคยได้เห็นนักบินของบางสายการบินประท้วงไม่ยอมบิน ทำให้เที่ยวบินต่างๆต้องหยุดชะงักลง เป็นต้น)
2.8) มีการขัดแย้งกันเองในหน่วยงานบริหารหรือไม่
2.9) การจัดการของบริษัทซับซ้อนหรือไม่
2.10) การจัดการทางด้านบัญชี การควบคุมรายจ่าย, ต้นทุน ดีเพียงใด
2.11) บริษัทความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างจากคูแข่งได้เพียงใด (มือเก่าหัดขับ: อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ บริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ "เหมือนๆ กัน" กับคนอื่นจนทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกยี่ห้อไหนก็ได้ ผู้บริโภคหรือลูกค้าก็จะเลือกเฉพาะจากผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุดให้ ทำให้เกิดการแข่งขันเพียงด้านราคา สุดท้ายก็มีกำไรน้อยลงทั้งหลายๆ ฝ่าย ลูกค้าเป็นผู้ได้รับประโยชน์เพียงผู้เดียว)
2.12) ทัศนะของการทำกำไรของบริษัทเป็นอย่างไร
2.13) มีศักยภาพในการหาเงินทุนเพื่อมาทำงานเพิ่มเติม (หากมี) โดยไม่รบกวนผู้ถือหุ้นเดิม หรือรบกวนให้น้อยที่สุดอย่างไร
2.14) ความจริงใจของผู้บริหารต่อผู้ถือหุ้น คือในยามที่สถานการณ์เลวร้าย เช่นบริษัทประสบภาวะขาดทุน ผู้บริหารทำตัวล่องหนหายไปหรือไม่ (มือเก่าหัดขับ: อันนี้น่าคิดนะครับ สำหรับเมืองไทยคงมีให้เห็นเยอะ) ข้อสุดท้ายที่สำคัญมาก
2.15) ผู้บริหารมีความซื่อสัตย์หรือไม่ (มือเก่าหัดขับ: หลายๆ คนกล่าวไว้ว่า จะดูข้อนี้ก่อน หากเป็นคนคดโกง ยิ่งเก่งด้วยแล้ว ผู้ถือหุ้นจะยิ่งต้องรับกรรมหนัก)
แล้วเมื่อใดจะขายหุ้นออก?
แน่นอนที่เซียนอย่าง ฟิชเชอร์ ย่อมจะต้องมีหลักการในการขายหุ้นออกเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น เขาใช้หลักการต่อไปนี้ในการยอมขายหุ้นออกไป:
1. ซื้อหุ้นมาแล้ว แต่... วิเคราะห์ผิดไปอย่างแรง (มือเก่าหัดขับ: อันนี้ต้องขายออกครับ รีบยอมรับความผิดพลาดแล้วขายออกไป อย่ามัวแต่หาเหตุผลเข้าข้างตัวเองอยู่)
2. พื้นฐานในความสามารถที่จะผ่านข้อกำหนดทั้ง 15 ข้อข้างบน (2.1 - 2.15) ได้เปลี่ยนไป
3. มองเห็นช่องทางที่จะนำเงินจากการขายหุ้นออกไป ไปลงทุนในบริษัทอื่นได้ดีกว่ามาก
ผมเองก็เชื่อว่า หากนักลงทุนสามารถมองหาหุ้นที่มีคุณสมบัติได้ครบทั้ง 15 ข้อข้างต้นแล้ว น่าจะต้องประสบความสำเร็จในการลงทุนอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าบริษัทที่มีคุณสมบัติครบดังกล่าว อาจจะ "หาทำยายาก" หน่อย เอาเป็นว่า เลือกที่สำคัญๆ ให้ได้มากที่สุด ก็น่าจะพอใช้ได้แล้วครับ



จอห์น เนฟฟ์ (John Neff)




เนฟฟ์ เรียกได้ว่าเป็นนักลงทุนแบบผสมผสาน เขามองบริษัทด้วยลักษณะทางธุรกิจ ผลตอบแทนในรูปของการเติบโตของบริษัทนั้น ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล และความเสี่ยงในราคาของหุ้นนั้นๆ ตลอดจนวิเคราะห์ทั้งพอร์ตโดยรวมเมื่อเทียบกับตลาด (ไม่ใช่วิเคราะห์ลำพังเฉพาะรายหุ้น) เรียกได้ว่าหลักการทำงานของ เนฟฟ์ นั้นน่าสนใจมากจริงๆ
จอห์น เนฟฟ์เป็นนักลงทุนมืออาชีพที่ทำงานทั้งเป็นผู้จัดการและเป็นผู้บริหารกองทุนหลายกอง เนื่องจากได้รับความไว้วางใจสูงมาก ผลงานการบริหารที่โด่งดังคือครั้งเมื่อเขาเข้าซื้อหุ้นของฟอร์ดเมื่อใครๆ ก็พากันขายหุ้นนั้นออกมาด้วยราคาที่ต่ำเนื่องจากเกรงว่าบริษัทจะเจ๊งไม่เป็นท่า ตอนนั้นอัตราส่วน p/e ของหุ้นมีค่าต่ำระดับไม่เกิน 3 เท่าในปี 1984 และหลังจากนั้นสามปี เขาสามารถทำกำไรให้กองทุนได้กว่า 500 ล้านเหรียญเมื่อหุ้นของฟอร์ดมีราคาเปลี่ยนแปลงจาก 14 เหรียญไปเป็นกว่า 50 เหรียญ
เนฟฟ์เป็นนักลงทุนที่สนใจค่า P/E, อัตราเติบโตของรายได้, และปันผลจากหุ้นของบริษัทที่เขาลงทุน เขาเรียกค่านี้ว่าอัตราส่วน Growth and Yield to P/E ratio (ย่อว่า GYP) ซึ่งคำนวณได้ดังนี้:
GYP = (ร้อยละของการเติบโตของรายได้ + ร้อยละของปันผล) / (P/E ratio)
ค่านี้ยิ่งสูงยิ่งดีเพราะแสดงถึงรายได้และเงินปันผลที่สูงมากในขณะที่ราคาหุ้นให้ผลตอบแทนต่อการลงทุน (สะท้อนในรูปของ P/E ratio) ในเวลาอันสั้น ปกติแล้วค่านี้ที่สูงกว่า 1 ถือว่าดีมาก อย่างไรก็ตามจะต้องเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมนั้น หรือกับของทั้งตลาดด้วย อย่างไรก็ตาม เนฟฟ์ให้ความสำคัญต่อจำนวนร้อยละของเงินปันผลมากกว่า เนื่องจากเขาถือว่าเป็นผลตอบแทนที่อยู่ในรูปของตัวเงินจริง นั่นหมายความว่าหากมีหุ้นสองบริษัท บริษัทแรกมีการเติบโต 5% จ่ายปันผล 10% และมี P/E เป็น 6 แต่บริษัทที่สองหนึ่งมีการเติบโต 10% แต่จ่ายปันผล 5% และมีค่าอัตราส่วน P/E เป็น 6 เท่ากัน เนฟฟ์ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกหุ้นของบริษัทแรกมากกว่า
หลักการเลือกหุ้นลงทุนของ จอห์น เนฟฟ์
1. มีค่าอัตราส่วน P/E ต่ำ
2. มีอัตราเติบโตของกำไรสูงกว่า 7%
3. มีการจ่ายปันผลที่สม่ำเสมอ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา (แสดงถึงการสามารถนำกำไรที่มากขึ้นมาทำให้เกิดประโยชน์ในการขยายกิจการ)
4. ผลตอบแทนที่ได้รับจะต้องสูงกว่าค่าอัตราส่วน P/E (เช่นหากค่า P/E เป็น 5 จะต้องมีผลตอบแทนมากกว่า 5%)
5. ต้องเป็นธุรกิจขาขึ้นของรอบ (ถ้าเป็นรอบ) หรือหากเป็นขาลง จะต้องมีค่า P/E ที่ต่ำมากพอต่อความเสี่ยงในขาลงของมัน
6. มีการเติบโตที่แข็งแรง (คือโตแล้ว ยืนอยู่ได้ ไม่ใช่ขึ้นๆ ลงๆ ล้มๆ ลุกๆ)
7. มีพื้นฐานแข็งแกร่ง (อันนี้พูดง่าย แต่ต้องดูกันเยอะหลายอย่างครับ คือต้องวิเคราะห์ธุรกิจด้วย)
คราวนี้มาดูบ้างว่า เซียนอย่าง จอห์น เนฟฟ์ จะตัดสินใจขายหุ้นเมื่อใด
1. พื้นฐานเปลี่ยนไปในทางที่เลวลง จนอาจจะเกิดผลกับการดำเนินงานในอนาคต
2. เมื่อราคาเพิ่มสูงขึ้นถึงจุดที่กำหนดไว้
3. ดูการเติบโต (ราว 4-5 ปีต่อเนื่องกัน) หากถดถอยลงก็พิจารณาขาย
4. มองที่อัตราส่วน GYP ของพอร์ตของเราเป็นหลัก หากของตลาดดีกว่าก็ถือเงินสดไว้บ้างเพื่อรอซื้อเมื่อโอกาสอำนวย
5. โอกาสซื้อที่ดี มักอยู่หลัง Panic Sell
เคล็ดการลงทุนในแบบของ เนฟฟ์:
วิธีการหาหุ้นเพื่อลงทุน เนฟฟ์จะมองหุ้นที่ราคาทำนิวโลว์ หรือราคาตกต่ำลงมามากๆ เมื่อพบแล้วก็มาพิจารณาโดยใช้หลักการเลือกหุ้นของเขา หากเห็นว่าธุรกิจยังดี สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ ราคาน่าลงทุน ค่าสัดส่วนต่างๆ ยังดีอยู่ ก็อาจจะพิจารณาซื้อไว้ได้ ในทางตรงกันข้าม เนฟฟ์มักจะไม่ไล่ซื้อหุ้นที่เป็นที่นิยม และทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไปมากแล้ว เพราะว่าความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว



เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน (Sir. John Templeton)




แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้ว เซอร์ จอห์น เทมป์เพิลตัน เป็นนักลงทุนในแนวคุณค่าของบริษัท แต่ก็นับได้ว่าเป็นเซียนนักลงทุนในแนวปรัชญาท่านหนึ่งในความคิดของผม ด้วยแนวความคิดที่แตกต่างและไม่เหมือนใครในการพิจารณาสภาวะตลาดและรูปแบบการลงทุน ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับก็แตกต่างจากคน "หมู่มาก" เช่นกัน
เซอร์ จอห์น เทมป์เพิลตัน มีหลักการพื้นฐานในการเลือกลงทุนดังนี้:
1. ลงทุนเพื่อผลตอบแทน การลงทุนก็เพื่อได้ให้ผลตอบแทน โดยเฉพาะเมื่อคิดหักภาษีเรียบร้อยแล้ว
2. เปิดใจให้กว้าง ทำตัวให้ยืดหยุ่น เราสามารถปรับการลงทุนได้เสมอเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดใจให้กว้าง เพื่อรอรับความคิดใหม่ๆ ในโลกที่เปลี่ยนไปได้เสมอ
3. ไม่ทำตามคนหมู่มาก ท่านเซอร์ บอกว่าหากทำตามคนหมู่มากแล้ว ก็จะได้รับผลตอบแทนเท่าๆ กับคนหมู่มากนั้น (มือเก่าหัดขับ: อันนี้น่าคิดเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเรา เนื่องจากว่านักลงทุนส่วนใหญ่นั้น เรียกได้ว่า "ขาดทุน" ดังนั้นหากเราทำตัวเหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วๆไป อาจจะต้องขาดทุนไปด้วยหรือเปล่า?)
4. ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ท่านเซอร์เชื่อว่าตลาดที่ซบเซาหรือตลาดหมีนั้น จะเป็นระยะเวลาเพียงชั่วคราวเท่านั้น หลังจากนั้นแล้วจะเปลี่ยนเป็นตลาดขาขึ้น
5. หลีกเลี่ยงหุ้นที่กำลังนิยมกัน เพราะคนที่ไล่ซื้อหุ้นพวกนั้น อาจจะเข้าซื้อเมื่อผิดจังหวะและผิดเวลาได้
6. เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง (มือเก่าหัดขับ: อันนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อเราวิเคราะห์ผิด หรือเข้าซื้อหุ้นที่ผิดจังหวะราคา คือแพงไป "มาก" จะต้องยอมรับข้อผิดพลาดและแก้ไขทันที อย่ามัวหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง หรือมัวแต่โทษคนอื่นอีก ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไร) และเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นก็จะต้อง - ดูข้อถัดไป
7. เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง ว่าเราผิดตรงไหน คำนวณอะไรผิดไป หรือวิเคราะห์ธุรกิจผิดไปอย่างไร แล้วแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในอนาคต
8. ซื้อเมื่อมีแต่ข่าวร้าย ขายเมื่อมีแต่ข่าวดี (มือเก่าหัดขับ: ซื้อตอนข่าวดีก็ติดดอยน่ะสิ)
9. มองหาราคาที่ถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าของหุ้น ช่วงเวลาที่ดีในการซื้อหุ้นก็คือตอนที่คนอื่นขายหุ้นออกมาเยอะๆ อย่าลืมดูพื้นฐานด้วยล่ะ
10. มองหาโอกาสในทุกที่ หรือมองให้ทั่วโลก (มือเก่าหัดขับ: เรื่องนี้จะง่ายขึ้นหากเราอยู่ในโลกของ "เงินไม่มีพรหมแดน" คือสามารถโยกย้ายเงินจากที่ไหนไปที่ไหนก็ได้ และลงทุนได้อย่างถูกกฏหมายในทุกๆที่ นอกจากนั้น เราอาจจะต้องมองถึงโอกาสในการลงทุนด้านอื่นนอกจากตลาดทุนด้วย เช่นในเรื่องอสังหาริมทรัพย์, ตราสารหนี้, ทรัพย์สินเพื่อการลงทุน - เช่นทองคำ เป็นต้น)
แม้ว่าท่านเซอร์จะไม่ได้ให้หลักการในการคิดคำนวณไว้มากนัก แต่ปรัชญาในการลงทุนของท่านก็น่าศึกษาไม่น้อย รู้ไว้และรู้จักปรับใช้ก็น่าจะทำให้เราเหล่ารายย่อยพ้นจากการ "ยับ" ไปได้บ้างครับ