วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

ผิดธรรมชาติ


ว่ากันว่าธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นภูเขา แม่น้ำ ทะเล สภาพภูมิอากาศล้วนเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น แต่นั่นก็คือธรรมชาติโดยโลกของเราจริงๆ   และถ้าถามว่าธรรมชาติแบบนั้นเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือไม่ คำตอบก็คือแน่นอนย่อมต้องเกี่ยวข้องแน่ เช่น ถ้าเราต้องการพืชเมืองหนาวในสภาพพื้นที่ที่มีอากาศร้อนมากต้นทุนต่างๆ ก็จะสูงมาก แม้ว่าการปลูกพืชคนนั้นอาจจะสำเร็จแต่ก็อาจจะลงเอยด้วยการขาดทุนเนื่องจากว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

เมื่อพูดถึงธุรกิจ ผมมักให้ความสำคัญเกี่ยวกับธรรมชาติของธุรกิจก่อนการลงทุน คือจะต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร เมื่อใดจะได้กำไร เมื่อไรจะขาดทุน รวมทั้งต้องเข้าใจผลกระทบจากสิ่งที่อยู่รอบข้างของธุรกิจนั้นด้วย (ก็คือสภาพแวดล้อมทางธรรมชาตินั่นเอง) เช่น
  • ธุรกิจนั้นทำอะไรมีคนอื่นทำด้วยหรือไม่
  • ลูกค้ามีพฤติกรรมอย่างไร และพฤติกรรมนั้น เปลี่ยนแปลงได้ง่ายหรือไม่
  • แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้ามีหรือไม่อย่างไร
  • กฎระเบียบต่างๆที่มีเกี่ยวกับราชการและการเมือง
  • ทรัพยากรต่างๆที่ธุรกิจต้องใช้ทั้งเงินทุน ความรู้ เทคโนโลยี ความชำนาญของมนุษย์
  • เรื่องของ 3M (Market Margin Management) ที่เราเคยพูดกันในคราวที่แล้ว <คลิกเพื่ออ่านเกี่ยวกับ 3M ของมือเก่าหัดขับ>
  • การเข้าการเข้าสู่การต่อสู้ในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นโดยคู่แข่งรายอื่น
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมชาติของธุรกิจที่จะสามารถเติบโตไปได้แค่ไหน จึงอยู่เมื่อเราลงทุนเราก็มักจะเลือกบริษัทที่มีความเด่นกว่าคู่แข่งคู่แข่งรายอื่น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าทั้งอุตสาหกรรมนั้นก็มีแนวโน้มของตัวเอง ถ้าอุตสาหกรรมนั้นถดถอยลง ก็ทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นแย่ไปตามๆ กัน นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์มีการแบ่งบริษัทออกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เมื่ออุตสาหกรรมในกลุ่มนั้นทรุดก็เป็นการยากที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งในกลุ่มนั้นจะมีผลการดำเนินกิจการที่ดีขึ้น

จริงอยู่ที่เราหรือผู้บริหารอาจจะสามารถทำสิ่งที่ผิดธรรมชาติไปบ้างได้ แต่การพยายามทำอะไรที่ผิดไปมากเกินไปมักตามมาด้วยสิ่งเหล่านี้
  • ต้นทุนที่สูงมาก
  • เวลาประสบความสำเร็จอันยาวนาน
  • คุณภาพการต่อสู้ที่เลวร้าย
สุดท้ายอาจจะตามมาด้วยความล้มเหลวหรืออย่างน้อยก็ให้ผลตอบแทนที่ย่ำแย่กับนักลงทุน

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นสิ่งผิดธรรมชาติอย่างมากในหุ้นกลุ่มหนึ่ง ที่มีรายใหญ่ครองตลาดอยู่แล้วจำนวน 3 ราย (รายย่อยอื่นก็มีแต่ไม่มีผลมากนักต่อการแข่งขัน) แต่กลับมีผู้เล่นใหม่ที่พยายามเข้ามาต่อสู้โดยผิดธรรมชาติอย่างมากมาย ธุรกิจดังกล่าวต้องลงทุนด้วยตัวเองนับแสนล้านบาท ต้องแย่งลูกค้าจากผู้เล่นรายใหญ่ที่ครองตลาดอยู่เดิม มีจุดคุ้มทุนที่สูง ซ้ำยังไม่มีลูกค้าในมือเลย บวกกับการขีดเส้นใต้ราคาขายของเจ้าเดิมที่ "ยังมีกำไร" ในขณะที่รายใหม่นี้คงอยู่ในสถานการณ์ลำบาก (เอาเป็นว่า กำไรขั้นต้นจะมีไหมยังไม่แน่ใจเลย) แถมยังต้องจ่าย "ค่าตั๋ว" เข้าร่วมการแข่งขันอีกหลายหมื่นล้านบาท ก็บอกได้คำเดียวว่าตกในที่นั่งลำบากมาก (เราคิดออก ว่าที่เจ้าหนี้ ว่าที่พันธมิตร ก็คงมองออกเช่นกัน)

ส่วนอีกเจ้าที่หวังเป็นผู้ยิ่งใหญ่ จะด้วยการพยายามช่วงชิงทุกวิถีทาง รวมทั้งพยายามทำให้คู่ต่อสู้มีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็มีคนที่ต้องมีต้นทุนที่สูง "เกินธรรมชาติ" ของการทำกิจการนั้นๆ และผลเสียจากการผิดธรรมชาติก็ตามมานั่นเอง

เรื่องเหล่านี้ในความเป็นจริงผมไม่โทษผู้ประกอบการ แต่กลับสงสัยในผู้มีอำนาจออกกฏระเบียบต่างๆ (Regulator) ที่ไม่ได้มองธรรมชาติของธุรกิจนั้นให้รอบคอบ ตลอดจนไม่สามารถคิดแนวทางเพื่อทำให้ประเทศและประชาชน (ผู้ให้และรับบริการ) ได้รับประโยชน์แบบ win-win ได้ ดังนั้นเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ผู้ออกกฏควรเป็นผู้รับผิดชอบอันดับต้นๆ และรองลงมาก็คือผู้ร่วมในภาระผูกพันอันผิดธรรมชาติจากธุรกิจของตัวเอง

ส่วนในแง่ของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ การผ่านอุปสรรคเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา เราต้องมองให้ไกล ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ประกอบธุรกิจใดบ้าง (ส่วน Regulator นั้นช่างเขาเถิด เพราะไม่เกี่ยวกับเรา) และในระยะยาวแล้วใครจะสามารถคงอยู่ในธุรกิจได้ ใครจะสร้างผลกำไรได้ต่อไปในระยะยาว (ทุนต่ำ ลูกค้าโต อัตรากำไรดีอยู่ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ เป็นต้น) เราก็ลงทุนกันไป การวางแผนที่ดี การมีทักษะและความอดทนที่เพียงพอ จะให้รางวัลกับการลงทุนในที่สุดครับ