วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

นักลงทุนแนวพื้นฐานและแนวเน้นมูลค่าต่างกันอย่างไร

นักลงทุนแนวพื้นฐานและแนวเน้นมูลค่าต่างกันอย่างไร

นานมาแล้ว แนวทางการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ถูกแบ่งออกเป็นสองแนวทางใหญ่ๆ คือแนวทางวิเคราะห์พื้นฐาน (technical analysis) และแนวทางวิเคราะห์เชิงเทคนิค (technical analysis) เราคงยังไม่พูดถึงเรื่องที่สองคือการวิเคราะห์เชิงเทคนิคซึ่งเป็นการดูการเปลี่ยนแปลงของ ราคา ปริมาณการซื้อขาย เทียบกับเวลาที่ผ่านไป เพื่อการทำนายราคาของหุ้นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะที่ช่วงหลังมามีแนวทางลงทุนที่มาแรงอีกชนิดหนึ่งคือแนวเน้นมูลค่า (value investing) และแน่นอนว่ามีคำถามจากนักลงทุนหลายคนถึงความแตกต่างของการลงทุนแบบวิเคราะห์พื้นฐานและแนวเน้นมูลค่านี้ ว่าเหมือน คล้าย หรือแตกต่างกันอย่างไร

โดยพื้นฐานแล้ว การลงทุนแนววิเคราะห์พื้นฐาน คือการวิเคราะห์ธุรกิจ ตลาด ความสามารถในการแข่งขัน และงบการเงินต่างๆ เพื่อดูว่าธุรกิจมีความสามารถในการขาย เพิ่มยอดขาย (sales growth) การทำกำไร (profit margin) เพิ่มกำไร (net profit growth) ความสามารถในการชดใช้หนี้ (pay out ratio) การทำกำไรต่อหุ้น (earning per share) ราคาตามมูลค่าบัญชีต่อหุ้น (book value per share) ราคาหุ้นเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return On Asset) และส่วนของผู้ถือหุ้น (Return On Equity) การพิจารณาว่ากระแสเงินสดดีหรือไม่ ทำให้บริษัทอยู่รอดแค่ไหน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือว่าสำคัญทั้งสิ้นเพื่อดูว่าบริษัทมี "พื้นฐาน" หรือคุณภาพ (Quality - Qualitative) เป็นอย่างไร

การวิเคราะห์พื้นฐานอาจจะพอบอกได้ว่าราคาหุ้นนั้นถูกหรือแพงในเวลานั้น แต่อาจจะไม่ได้บอกว่าหุ้นนั้นถูกหรือแพงอย่างไรในอนาคต ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าในที่สุดอนาคตก็ต้องมาถึง และราคาของหุ้นก็ต้องเป็นไปราคาในอนาคตนั่นเอง การที่จะบอกราคาหุ้นในอนาคตได้จะต้องมีการคาดการณ์หลายอย่าง (คาดการณ์ เพราะมันยังไม่เกิดขึ้น) โดยเริ่มต้นจากยอดขาย โครงสร้างต้นทุน ทำให้พอคาดการณ์กำไรที่จะเกิดขึ้นได้ การคาดการณ์กระแสเงินสดที่ประกอบไปด้วย กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Flow from Operating Activites) จากการลงทุน (Cash Flow from Investing Activities) จากการจัดหาเงิน (Cash Flow from Financing Activities) ก็ทำให้สามารถมองเห็นการสร้างและการใช้เงินของธุรกิจเพื่อการก้าวหน้า (หรือหดตัว) ในอนาคตได้ และสุดท้ายก็จะสามารถ คำนวณมูลค่าของบริษัทที่เหมาะสม และ/หรือ ราคาหุ้นที่เหมาะสมในอนาคตเป็นจำนวนเลข (Quantitative) ได้ ซึ่งคำตอบที่เป็นตัวเลขนี้เป็นมูลค่าหรือ Value ที่เป็นหัวใจของการวิเคราะห์แนวมูลค่า

เราอาจจะพูดโดยสรุปได้ก็คือการวิเคราะห์พื้นฐาน (Fundamental Analysis) เป็นรากของการลงทุนแนวเน้นมูลค่า และเมื่อเรานำความรู้ที่ได้มาระหว่างการศึกษาธุรกิจของบริษัท ผสมกับความรู้ในทางธุรกิจ สังคม เศรษฐศาสตร์ การสังเกตต่างๆ จะทำให้นักลงทุนแนวเน้นมูลค่าจะสามารถคาดการณ์สิ่งต่างๆ ที่อาจจะเกิดบริษัทในอนาคตได้ เช่น จำนวนสาขา ลูกค้า สินค้า ผลิตภัณฑ์ใหม่ อัตรากำไร เป็นต้น ซึ่งจะนำพาไปสู่สิ่งสำคัญคือความสามารถในการเพิ่มยอดขาย เพิ่มกำไร กระแสเงินสดต่างๆ ของบริษัท ทำให้สามารถหามูลค่าของบริษัทซึ่งก็คือ Value ของธุรกิจนั้นได้ สุดท้ายคือสามารถราคาต่อหุ้นของบริษัทที่เหมาะสมได้ ทำให้ตัดสินใจซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นต่ำกว่าค่าของมันมาก หรือขายหุ้น/หลีกเลี่ยงการลงทุน เมื่อราคาหุ้นสูงกว่าค่าของมันไปมาก ซึ่งก็คือการลงทุนตามมูลค่า (Value Investing) นั่นเองครับ