วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

การลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสม


หลายครั้งคราวเราจะเห็นข่าวว่าบางบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงทุนของบริษัทบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุน การลดทุน ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้นโดยเฉพาะการเพิ่มทุนที่ผู้ถือหุ้นมักจะต้องควักกระเป๋าตัวเองเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นเอาไว้ แต่อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการลดทุนซึ่งฟังดูแล้วไม่ค่อยจะดีเท่าไร แต่ก็ดูคล้ายจะมีเหตุผลที่ดีผสมอยู่บ้างก็คือ "ลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสม" (ความไม่ดีก็คือ ทำไมจึงมีผลขาดทุนสะสมมาได้ ผลนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือการดำเนินงานที่ล้มเหลว)

การลดทุน

ถ้าพูดกว้างๆ การลดทุนก็คือทำให้ทุนลดลง แต่มีหลายสาเหตุเช่น อาจจะลดทุนเพราะเก็บเงินผู้ถือหุ้นมาเกินก็ทำการลดทุนแล้วคืนเงินไป (ซึ่งฟังดูดี แต่ก็แปลว่าไม่มีความคิดที่ดีกว่าโดยเก็บเงินไว้ใช้ขยายบริษัท เราจึงไม่ค่อยเห็นกรณีนี้เกิดขึ้นเท่าไรนัก) การลดทุนอีกอย่างหนึ่งที่ทำกันมากก็คือการลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสมโดยมีวิธีย่อยอีกคือ การลดจำนวนหุ้น ซึ่งปกติวิธีนี้จะไม่นิยมทำกันเนื่องจากกระทบกับผู้ถือหุ้นโดยตรง (หุ้นในการถือครองหายไป) และโดยการลดมูลค่าที่ตราไว้หรือราคาพาร์ซึ่งกรณีนี้จำนวนหุ้นจะเท่าเดิมและมีผลกับราคาหุ้นในตลาด ณ วันที่ลดทุนน้อยกว่า

ผลที่เกิดขึ้น

ในทางบัญชี การลดราคาพาร์ลงทำให้มีส่วนเกินมูลค่าหุ้นมากขึ้น (จากเงินที่เก็บมาแล้ว) สามารถนำไปหักกับขาดทุนสะสมที่อยู่ในส่วนของ "ส่วนของผู้ถือหุ้น" ให้หมดไปได้โดยทันที ผลขาดทุนสะสมจะหายไปโดยไม่ต้องรอเอากำไรที่จะทำได้ในอนาคตมาหักล้างซึ่งอาจใช้เวลานานหลายปี และบริษัทสามารถจ่ายปันผลได้หากมีสภาพคล่องพอในปีเดียวกันหรือปีต่อๆ ไป และถ้าแนวโน้มธุรกิจดีต่อเนื่อง ราคาหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้นต่อไปได้

เมื่อไรสมควรใช้

สิ่งที่นักลงทุนควรติดใจก็คือ เกิดอะไรขึ้นที่ทำให้บริษัทเกิดการขาดทุนสะสมคั่งค้างมานานในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา การล้างขาดทุนสะสมในปีนี้แต่ในปีหน้าบริษัทก็ขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำอีกดูเหมือนไม่มีประโยชน์อะไรเลย ดังนั้นเราต้องพิจารณาว่าบริษัทมีแนวโน้มว่าสามารถทำกำไรได้อย่างมั่นคงต่อไปหรือไม่ ถ้าบริษัทมีเจ้าของหรือผู้บริหารใหม่เข้าบริหารงานแทน หรือเปลี่ยนธุรกิจและทำกำไรได้จริงแต่อาจจะไม่มากพอที่จะล้างการขาดทุนสะสมที่มีมานานได้อย่างรวดเร็ว การล้างขาดทุนสะสมด้วยการลดทุนก็เป็นการตั้งต้นที่ดี แต่ถ้าบริษัทยังมีโครงสร้างเดิมๆ ทำธุรกิจเดิมกับลูกค้าเดิมๆ กับแนวโน้มของวัฎจักรแบบเดิมๆ เราก็คงเดาได้ว่าบริษัทก็คงมีผลการดำเนินงานแบบเดิมๆ คือเพียรพยายามสร้างการขาดทุนแล้วสะสมเอาไว้ต่อไป จ่ายปันผลไม่ได้ ถึงวันหนึ่งก็มีหนี้สินมากมาย ต้องลดทุนอีก หรือไม่ก็เพิ่มทุน หรือทำอะไรไม่ได้ก็คงล้มละลายไปนั่นเอง

ตัวอย่างการลดทุนโดยลดราคาพาร์ลงพอดีเท่ากับขาดทุนสะสมที่มี
จำนวนเงิน (ล้านบาท)

สินทรัพย์ = ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สิน
มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 7 บาท, ไม่มีส่วนเกินทุน, ไม่มีหนี้สิน
700 (ทรัพย์สิน) = [(100 x 7)] (ส่วนของผู้ถือหุ้น) + 0 (หนี้สิน)

เมื่อทำงานไป หลายปีเกิดการขาดทุนสะสมอยู่ 600
100 (ทรัพย์สิน) = [(100 x 7) - 600] (ส่วนของผู้ถือหุ้น) + 0 (หนี้สิน)

ปีต่อมา กำไร 50
150 (ทรัพย์สิน) = [(100 x 7) - 600 + 50] (ส่วนของผู้ถือหุ้น) + 0 (หนี้สิน)
150 (ทรัพย์สิน) = [(100 x 7) - 550] (ส่วนของผู้ถือหุ้น) + 0 (หนี้สิน)
ยังจ่ายปันผลไม่ได้ เพราะมีขาดทุนสะสมอยู่ 550

ปีต่อมา กำไร 150 (ดูแนวโน้มดีมาก)
300 (ทรัพย์สิน) = [(100 x 7) - 550 + 150] (ส่วนของผู้ถือหุ้น) + 0 (หนี้สิน)
300 (ทรัพย์สิน) = [(100 x 7) - 400] (ส่วนของผู้ถือหุ้น) + 0 (หนี้สิน)
แต่ก็ยังจ่ายปันผลไม่ได้ เพราะมีขาดทุนสะสมอยู่ 400

บริษัทจึงลดทุนเพื่อล้างการขาดทุนที่สะสม 400 นั้น
โดยการลดราคาพาร์เหลือ 3 บาท สมการจะเป็น
300 (ทรัพย์สิน) = [(100 x 3) + (100 x 4) - 400] (ส่วนของผู้ถือหุ้น) + 0 (หนี้สิน)
300 (ทรัพย์สิน) = [(100 x 3) + 0 (ขาดทุน/กำไรสะสม)] (ส่วนของผู้ถือหุ้น) + 0 (หนี้สิน)
ทำให้ในบัญชีไม่มี ขาดทุนหรือกำไรสะสม ในปีต่อไปก็สามารถจ่ายปันผลได้หากมีกำไรและมีสภาพคล่องในการจ่ายได้

ตามตัวอย่างเป็นการลดทุน (ราคาพาร์) ให้ล้างขาดทุนสะสมได้พอดี ในกรณีที่ลดมากเกินไปก็จะบันทึกไว้ใน "ส่วนเกินทุน" คือไม่ควรไปบันทึกไว้ในส่วนของกำไรสะสม เนื่องจากจะเป็นผลให้ผู้ใช้งบการเงินนำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ (เป็นหลักการที่ถูกต้องของวิชาชีพบัญชี) หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ นักลงทุนในการเลือกลงทุนต่อไปครับ