วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

ราคากับ(คุณ)ค่าของสิ่งของ



เชื่อแน่ว่าเพื่อนๆ หลายคนย่อมต้องเคยได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น สิ่งที่เรียกว่าการลงทุนแบบคุณค่า (Value Investment - VI) กันมาบ้างแล้ว แต่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจหรือตีความหมายผิดไปมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการถือหุ้นเป็นเวลานาน ว่านักลงทุนแนว VI จะต้องซื้อแล้วถือหุ้นนานๆ หรือแม้ว่าหุ้นจะขึ้นก็ไม่ขายจะลงก็ไม่ขาย หลับหูหลับตาถือหุ้นเอาไว้ (ฟังดูอึด เนอะ) ก็เป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าได้ เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วค่อนข้างห่างไกลจากสิ่งที่ถูกต้องอยู่มากๆ เชียว เพราะจริงแล้วนักลงทุนที่เรียกว่าแนว VI นั้นเขาลงทุนด้วยแนวคิดเปรียบเทียบระหว่าง ราคากับ(คุณ)ค่า ของสิ่งของที่จะลงทุน ในกรณีของเราๆ ก็คือหุ้น นั่นเอง


สำหรับหุ้นแล้ว ราคาเป็นสิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจน เราดูไปที่กระดานซื้อขายก็เห็นได้ชัดในทันที ถามว่านักลงทุนแนวคุณค่าสนใจราคาไหม ทำตอบคือสนใจสิครับ เพราะอย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องจ่ายเงินออกไปหากเราต้องการซื้อหุ้นนั้น แต่ไม่เพียงเท่านั้น นักลงทุนในแนวคุณค่า มักจะสนใจในอีกเรื่องหนึ่งไปควบคู่กันก็คือ (คุณ)ค่า ของหุ้นนั้น ว่าหุ้นหนึ่งหุ้นนั้นในแท้ที่จริงแล้วมีค่าเป็นเท่าไร พอพูดถึงตรงนี้หลายคนอาจจะไม่ค่อยเข้าใจโดยคิดไปว่าค่าของมันก็คือราคาที่เห็นวิ่งไปมาเขียวๆ เหลืองๆ แดงๆ อยู่นั่นปะไร ทำไมจะต้องคิดเพิ่มให้มากความไปอีกเล่า


ที่ต้องคิดให้มากความก็เพราะของสองอย่างนี้ในบางครั้ง (จริงๆ แล้วหลายครั้งด้วยซ้ำไป) มีความไม่เหมือนหรือไม่เท่ากัน ไม่สะท้อนต่อกันอยู่ ยกตัวอย่างก็เหมือนกับสินค้าอะไรบางอย่างเช่น กล้องถ่ายรูปที่ตกรุ่นแล้ว ที่อาจจะเคยเป็นรุ่นสูงสุดมาก่อน แน่นอนว่ากล้องอย่างนี้ถูกออกแบบมาอย่างดี ถูกสร้างด้วยวัสดุอย่างดี ถูกผลิตด้วยโรงงานที่ได้รับการคัดเลือกมาแล้วเป็นอย่างดี แต่เมื่อมีรุ่นใหม่มาแทนที่ซึ่งอาจจะสวยกว่า ดูรูปร่างอ้อนแอ้นอรชรกว่าน่าใช้กว่า ก็ทำให้ความนิยมหรือราคาของกล้องรุ่นเก่ากว่าตกต่ำลงไปบางครั้งอาจจะถึงระดับ 30-40% เลยทีเดียว แต่ถามอีกทีว่ากล้องที่ตกรุ่นลงไปนั้นสามารถใช้งานได้ไหม ได้ดีไหม และต่างจากรุ่นใหม่อย่างไร ถ้าเราดูดีๆ แล้วเราจะเห็นว่า (คุณ)ค่าในการใช้งานของกล้องที่ตกรุ่นลงไปนั้นไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย มันถ่ายรูปได้เหมือนกัน มีลูกเล่นครบเหมือนๆ กัน และแถมอาจจะใช้วัสดุดีกว่ารุ่นใหม่ที่ลดต้นทุนลงไปอีกก็เป็นไปได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างของความไม่สัมพันธ์กันระหว่าง ราคา กับ (คุณ)ค่าของสินค้าหนึ่งๆ ที่พอจะเห็นได้


สำหรับการลงทุนก็เช่นเดียวกัน นักลงทุนแนวเน้นคุณค่าก็มีหน้าที่ในการพิจารณาค่าที่แท้จริงของบริษัท ของหุ้นของบริษัทหนึ่งหุ้น ว่าควรจะมีค่าเป็นเท่าไร จากนั้นก็ทำการเปรียบเทียบกับราคาที่หุ้นนั้นทำการซื้อขายอยู่ ถ้าเป็นของดีราคาต่ำเพียงเพราะไม่มีใครสนใจ ก็อาจจะเป็นการโชคดีที่ได้พบของที่คนอื่น (ยัง) ไม่เห็นค่า (จึงมีราคาต่ำ) ก็ได้นะครับ