วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

พื้นฐานการกำไร (ที่ถูกลืม)

 

พูดถึงเรื่องหุ้นแล้ว หลายๆ คนที่เข้ามาลงทุนในเรื่องหุ้นคงไม่มีใครที่ตั้งใจจะเข้ามาแล้วขาดทุนเป็นแน่ แต่กลับเข้ามาแล้วสามารถทำเงินได้ ทำกำไรเป็นตัวเงินได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน หรือบางคนก็อาจจะคิดไปจนถึงการทำการมีรายได้จากหุ้นจนกระทั่งสามารถไม่ต้องทำงานประจำอีกต่อไปได้ หรือเรียกได้ว่าเป็นอิสระทางการเงินนั่นเอง

พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ก็อดทำให้เราต้องคิดเรื่องการทำกำไร (และโอกาสที่จะขาดทุน) จากตลาดหุ้นไม่ได้ เพราะจากเริ่มแรกเดิมทีหลายปีที่ผ่านมา เมื่อตลาดหลักทรัพย์ของไทยเราเองยังไม่ซับซ้อนขนาดนี้ การทำกำไรก็จะเป็นไปในไม่กี่รูปแบบเช่น การทำกำไรจากการซื้อและขายหุ้นในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และจากการทำกำไรจากการขอยืมหุ้นมาขายก่อนและซื้อคืนในราคาต่ำกว่า (หรือเรียกสั้นๆ ว่า short หุ้น) เท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการทำกำไร (และมีโอกาสขาดทุนด้วย) ในหลายรูปแบบมากขึ้น นั่นคือรวมถึงการเก็งความเป็นไปและ/หรือลดความเสี่ยงผ่านการซื้อออปชั่นส์ในรูปของสัญญาล่วงหน้า เป็นต้น ซึ่งเมื่อทำไปทำมาด้วยผู้ที่ไม่รู้และไม่ชำนาญจริง ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป้นการลดหรือเพิ่มความเสี่ยงเหมือนกันนะครับ

ถึงตรงนี้ จึงเห็นว่ามีการทำกำไรหลายรูปแบบอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบันนี้ ถ้าว่ากันในระยะสั้นแล้ว เราจะเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะทำกำไรจากหุ้น (และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผสมรวมกันอยู่ในตลาดในปัจจุบันนี้) ได้อย่างมากมายและในเวลาสั้น เพราะราคาหุ้นของหลายบริษัทที่เปลี่ยนแปลงไปมาวันละ 3-5% นั้น อาจจะทำให้หลายๆ คนคิดว่าสามารถทำกำไรได้สัก 5% ต่อสองวัน หรือนั่นคือประมาณสัก 10% ต่อสัปดาห์ หรือถ้าทบต้นไปมา ก็จะได้สัก 50% ต่อหนึ่งเดือน หรือหากคิดเป็นปีก็ โอ.. ช่างมากมายเสียเหลือเกิน ดูเหมือนจะอยู่ในความฝัน แต่ฟังดูแล้วผมก้ไม่แน่ใจว่าจะมีคนที่ทำได้จริงหรือไม่ ถึงแม้อาจจะทำได้จริงแต่ที่แน่ๆ ก็คือโดยส่วนตัวแล้วผมก็คงไม่รู้จักเขาคนนั้นแน่ๆ

ย้อนกลับมาสู่ความเป็นจริงสักหน่อย ว่าเราคงต้องประเมินตัวเองว่าเราจะสามารถทำกำไรจากหุ้นหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดได้ทุกวันอย่างต่อเนื่องแบบนั้นหรือไม่ หรือจะมีเวลาที่จะเฝ้าการเปลี่ยนแปลง ดูความเป็นไป และตัดสินใจได้ถูกต้องทุกครั้งไปหรือไม่ บางครั้งเราอาจจะเห็นหลายคนบอกเพียงว่า อ่ะไม่เป็นไรหรอก แม้จะไม่ได้กำไรถึง 1000% ต่อปี แต่ก็ขอแค่ 50-60% ต่อปีก็พอ โดยการซื้อๆ ขายๆ และทำกำไรบ้างขาดทุนบ้าง แต่ขอให้หักลบกลบหนี้แล้วได้กำไรสัก 50-60% ต่อปีนั้นก็พอใจแล้ว เพระว่าดูไปแล้วมันก็ดีกว่าการซื้อหุ้นและเก็บกินปันผลที่ได้ผลตอบแทนเพียงปีละ 5-10% เท่านั้นเอง... แหม ดีกว่าตั้งเยอะแยะ

แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะถูกหลงลืมไปก็คือ ในพื้นฐานของการลงทุนในหุ้นแบบเน้นมูลค่าแล้ว นักลงทุนจะซื้อหุ้นของบริษัทที่มีความสามารถในการเติบโตสูง หรือของบริษัทที่ดีแต่คนทั่วไปยังมองไม่เห็นสิ่งที่แฝงอยู่ จะด้วยประการใดก็ตาม (เช่น บริษัทเล็ก, เขาไม่เล่นกัน, บริษัทกำลังขยายงาน แต่คนไม่ทราบ หรือไม่เชื่อว่าจะทำได้จริง) โดยที่ราคาปัจจุบันนั้นทำให้บริษัทสามารถจ่ายปันผลได้ 5% ของราคาหุ้น (เช่น จ่ายปันผล 1 บาทจากหุ้นราคา 20 บาท) แต่ถ้าบริษัทเติบโตขึ้น จนสามารถจ่ายปันผลได้เป็นเงิน 2 บาทต่อหุ้นล่ะ เมื่อนั้นเองครับที่ราคาหุ้นจะต้องวิ่งตอบรับผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยอาจจะขึ้นมาเป็นที่ราคา 35-40 บาทต่อหุ้นได้โดยไม่ยาก และเมื่อถึงตอนนั้นแล้ว นักลงทุนก็มีทางเลือกที่จะถือหุ้นนั้นไว้เพื่อรับปันผลต่อไปหรือขายหุ้นนั้นไปเพื่อลงทุนในบริษัทอื่นที่ดีกว่า ซึ่งก็ขึ้นกับสภาวะการณ์ต่างๆ นั่นเอง
จะว่าไปแล้ว พื้นฐานการได้กำไรจากหุ้นในแบบที่สอง คือ ซื้อหุ้นของบริษัทที่จะเติบโตจนจ่ายเงินปันผลได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาของหุ้นนั้นเพิ่มสูงขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นพื้นฐานอีกแบบหนึงที่นักลงทุนมักจะหลงลืมกันไป หรืออาจจะเพียงไม่อยากจำเพียงเพราะว่าต้องใช้เวลาที่นานกว่านั่นเอง