วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จะหาหุ้นดีราคาถูกด้วยแนว VI ได้ไหมในเมื่อนักลงทุนมีความรู้มากขึ้น


ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ผมได้รับอีเมล์จากเพื่อนนักลงทุนท่านหนึ่งที่ถามคำถามที่กระตุ้นความคิด (และความรู้สึก) หลายอย่างเลยทีเดียว เพื่อนได้ถามว่าการที่นักลงทุนมีความรู้ในการลงทุนมากขึ้นจะมีผลกับตลาดหุ้นหรือไม่ในแง่ของราคาหุ้น เมื่อทุกคนมีความรู้ในการลงทุนมากขึ้น เราคงจะหาหุ้นดีราคาถูกได้ยากขึ้นในอนาคต และแนวทางแบบviจะยังใช้ได้ผลหรือไม่ (ในเมืองไทย) ถึงแม้จะได้รับการพิสูทธ์มาแล้วว่าได้ผลในต่างประเทศแต่ต่างกันกับประเทศไทยเพราะตลาดเราเล็กกว่ามาก

นักลงทุนไทยทุกวันนี้ มีความรู้มากขึ้นจริงครับ สังเกตจากหนังสือต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุนที่วางขายในท้องตลาดทุกวันนี้ ก็มีการพูดถึงทั้งเรื่องปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิครวมทั้งการวิเคราะห์เศรษฐกิจ ค่าเงิน หลายอย่างผสมรวมกัน และจะเห็นว่ามีมากขึ้นทุกวันถ้าดูตรงจุดนี้ เทียบกับในต่างประเทศ คงต้องยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา (เพราะผมอ่านหนังสือภาษาอื่นไม่ออกอีกนอกจากไทย, อังกฤษ ส่วนญี่ปุ่นก็แค่งูบ้างปลาบ้าง) ก็จะเห็นว่ามีหนังสือเรื่องการ "ทำเงิน" ในตลาดหุ้นอยู่มาก (ผมเรียกว่า ทำเงิน เพราะการกระทำหลายอย่างผมไม่คิดว่าเป็นการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คาดหวังได้เพียงพอ แต่ลงไปแล้วเงินหายไปหรือเหลือน้อยลงนั้นเป็นไปได้มากกว่า)

แต่ถ้าดูให้ลึกลงไป ก็ยังมีหนังสืออยู่หลากหลายประเภท ทั้งการลงทุนโดยใช้พื้นฐานธุรกิจและการเก็งกำไรโดยอาศัยปัจจัยทางเทคนิค ต้องถามอีกครั้งหนึ่งว่าอะไรยากง่ายกว่ากัน(แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน) และอะไรขายดีกว่ากัน (ซึ่งต้องบอกตรงๆ ว่าผมเองก็ไม่ทราบ) แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ การลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้น ต้องใช้เวลา จนหลายครั้งที่นักลงทุนแบบอาศัยปัจจัยพื้นฐาน หรือ นักลงทุนแบบ VI (คล้ายแต่ไม่เหมือนกันครับ) จะบอกเสมอว่า เวลาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของพวกเขา และสิ่งที่อยากให้เป็นกับชีวิตก็คือ อยากให้อายุยืน สุขภาพสมบูรณ์ พอที่จะอยู่ดูความสำเร็จของการลงทุนที่ตัวเองได้คิดคำนวณและคาดหวังไว้ หลายกรณีใช้เวลา 5 ปีขึ้นไป

ถึงตรงนี้ต้องถามต่ออีกว่า คนจำนวนมากหรือน้อยเท่าไรที่จะทนรอความสำเร็จนั้นได้ อาจจะต้องใช้เวลา 5-10 ปีกันเลยทีเดียวที่ราคาหุ้นและ/หรือปันผลจะเพิ่มขึ้น 4-5 เท่าตัว เทียบกับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่แกว่งไปมาสัปดาห์ละ 5% เพียงหนึ่งปีก็เป็นจำนวน 250% แบบเห็นๆ (นี่ไม่คิดการเก็งกำไรขาลงแบบ put future ต่างๆ อีกนะครับ) เพียงไม่นานก็ได้ผลตอบแทนไม่รู้กี่เท่าตัวแล้ว บางคนอาจจะคิดว่าถ้าอย่างเลว ได้บ้าง เสียบ้าง ได้ 100% ต่อปีก็ยังดี... ผู้ที่อยู่ในตลาดที่มีความคิดนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยนะครับ (ผมไม่ได้เจาะจงว่าความคิดนี้ถูกหรือผิดนะครับ บางคนอาจจะทำได้จริงก็ได้)

อีกเรื่องเป็นเรื่องของใจ ใจในที่นี้หลายคนอาจจะตีความหมายว่าเป็นคนที่ต้องใจสู้ อึด ฮึด แบบศรีทนได้อะไรประมาณนั้น แต่จริงๆ แล้วคนเราจะทนอะไรได้ดีก็ต่อเมื่อเขาเข้าใจในสิ่งที่เป็นไป ในสิ่งที่เห็นที่เป็นอยู่เท่านั้น หัวใจในด้านการลงทุนก็คือความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปของตลาด ในเรื่องของราคา ในการทำราคาของใครบางคน ในการไหลเข้าออกของเงินจากนักลงทุนกลุ่มต่างๆ (ไทย, เทศ, รายใหญ่, พร็อพเทรด, กองทุน เป็นต้น) คนที่ยังไม่มีประสบการณ์ผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ เมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็จะตกใจ ว่าราคามันขึ้นหรือลงได้มากมายขนาดนั้น จะแสดงถึงปัญหาของบริษัทหรือเปล่า หรือเขาเลือกลงทุนผิดจังหวะหรือเปล่า อะไรทำนองนั้น ในขณะที่คนที่ลงทุนมานาน จะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติและถือเป็นโอกาสที่จะได้ซื้อหุ้นที่ราคาต่ำลง (แต่จะซื้อหรือไม่ก็ต้องคำนวณก่อนว่าราคานั้นถูกกว่าค่าของมันจริงๆ หรือเปล่าเสียก่อน) และคนที่เคยวิเคราะห์บริษัทต่างๆ มานาน และรู้ว่าตัวเองมันจะวิเคราะห์ได้ถูกต้อง (ว่าจะมีกำไรมากขึ้น/น้อยลง เท่าไร เมื่อไร ไม่ใช่ในแง่ของราคาหุ้น)ก็จะสามารถชั่งใจได้ว่าตัวเองจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าวิเคราะห์ถูกมาตลอด และราคาหุ้นต่ำลงกว่าค่าที่แท้จริงของมัน คนเหล่านี้จะไม่รีรอเลยที่จะซื้อเพิ่มเข้ามาอีก

กลับมาถึงคำถามสำคัญก็คือ "จะหาหุ้นดีราคาถูกคงยากขึ้นในอนาคตแล้วแนวทางแบบ VI จะยังใช้ได้ผลไหม และใช้ในตลาดบ้านเราได้ผลหรือไม่เนื่องจากขนาดตลาดของเราเล็กกว่าต่างประเทศมาก" จากข้างบนจริงๆ แล้วมีหลายคำถาม จึงต้องว่ากันเป็นข้อๆ คือ

(1) จะหาหุ้นดีราคาถูกคงยากขึ้นในอนาคตหรือไม่

กับคำถามนี้ จะเห็นว่าหลายครั้ง ราคาหุ้นที่เป็นอยู่ไม่ได้เกิดจากนักลงทุนแบบ VI ทั้งหมด (เพราะยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ใช้แนวทางนี้ รวมทั้งกองทุนอีกหลายกองทุนด้วย) ยิ่งสมัยนี้มีการทำกำไรได้จากการที่หุ้นลดราคาต่ำลง ทำให้ราคาหุ้นที่เห็นในตลาดบิดเบือนผิดไปมากกว่าที่เป็น (ทั้งแพงไป และ ถูกไป) โอกาสจึงมีเสมอ อย่างทุกวินาทีนี้ที่หุ้นลงมาหลายร้อยจุด ก็มีหุ้นที่ราคาไม่แพงและถูกปนอยู่ให้เห็นเสมอใช่ไหมครับ

(2) แนวทางแบบ vi จะยังใช้ได้ผลไหม

ผมยังคงคิดว่าแนวทางการลงทุนแบบ VI เป็นแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด ผมไม่ใช้คำว่าถูกต้องที่สุดถ้ามองในแง่ของผลตอบแทนในระยะสั้น แต่อย่างน้อยแนวทาง VI เป็นแนวทางที่เราได้ลงทุนโดยการคำนวณไว้แล้วอย่างมีหลักการล่วงหน้า ไม่ว่าจะใช้อัตรากำไรของบริษัทในอดีตและที่คาดหวังในอนาคต, ไม่ว่าจะใช้อัตราปันผลของบริษัทในอดีตและที่คาดหวังในอนาคต มาใช้คำนวณ ซึ่งเราสามารถใช้ตัวเลขเหล่านี้มาใส่ MOS (Margin Of Safety) เข้าไปอีกว่าในกรณีเลวร้ายที่สุดแล้ว เราจะมีผลตอบแทนเท่าไร หรือหายไปเลย เราก็เอามาประกอบการตัดสินใจได้ ผมจึงคิดว่าแนวทางนี้ยังคงได้ผลอยู่ เพียงแต่เราต้องทำงานามากขึ้นเพื่อเสาะหาหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมันไปมากๆ (มี MOS มากพอที่เราพอใจ)

(3) แนวทาง VI ได้ผลในต่างประเทศแต่ต่างกันกับประเทศไทยจะได้ผลหรือไม่เพราะตลาดเราเล็กกว่ามาก

ตรงนี้ผมมองว่าเป็นโอกาสมากกว่านะครับ เพราะการที่ตลาดเล็กจะมีการผันผวนของราคาหุ้นมากกว่า (แบบนี้ล่ะกระมังที่นักลงทุน, นักเก็งกำไรต่างชาติ ชอบนัก) และจากนิสัยโดยทั่วไปของตลาดหุ้นที่ "เว่อร์" คือ ดีใจก็ดีใจเกินเหตุ ตกใจก็ตกใจเกินเหตุ ทำให้ราคาหุ้นมัน "เว่อร์" ไปด้วย ทั้งแพงไปและถูกไป (เมื่อเทียบกับ value หรือค่าที่แท้จริงของมัน) จึงยิ่งเป็นโอกาสให้นักลงทุนแบบ VI หาประโยชน์จากตรงนี้ได้อีก เรียกว่าเมื่อเป็นศัตรูไม่ได้ ก็เป็นมิตรเสียเลย แต่ต้องเป็นด้วยแนวทางที่ "มีโอกาสที่จะสำเร็จ" ที่สุดนั่นเอง

ช่วงนี้หุ้นผันผวน ก็ต้องพิจารณาสิ่งที่เราจะทำ หรือไม่ทำ อะไรกับหุ้นและตลาดนะครับการอยู่เฉยๆ ก็เป็นการตัดสินใจว่าเราจะไม่ทำอะไรกับมันเช่นกัน การอยู่เฉยๆ ไม่ได้หมายความว่าเรายังไม่ได้ตัดสินใจ สำหรับผม คงซื้อเพิ่มในตัวที่เห็นว่ายังไม่แพง และอยู่เฉยๆ ในตัวที่ถือลงทุนครับ (ผมมีรายได้จากปันผลเป็นการประกันว่า เป็นอิสระทางการเงินดังนั้นยากมากที่ผมจะขายหุ้นออกไปครับ)