วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

หุ้นเป็น 0-sum game หรือไม่



นี่เป็นคำถามยอดฮิตติดลมบนคำถามหนึ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะนักลงทุนหน้าใหม่ๆ หากถามใครต่างคนก็อาจจะได้คำตอบที่ต่างกันไปขึ้นอยู่กับมุมมองและการกระทำของคนคนนั้น แต่จริงๆ แล้วคำถามนี้มีคำตอบที่่ค่อนข้างแน่นอนไม่อึมครึม ดังจะพอเล่าอธิบายได้ดังต่อไปนี้ครับ
ถ้าเราซื้อ-ขายหุ้นในระยะสั้น ซึ่งราคาของหุ้นจะขึ้นๆ ลงๆ ด้วยปัจจัยอย่างอื่นที่ไม่ได้เป็นการสะท้อนออกมาจากพื้นฐานของการประกอบการของบริษัท คนเล่นก็ไม่ได้ปันผลงอกเงยอะไรออกมานอกจากกำไรหรือขาดทุนส่วนต่างของราคาหุ้น เมื่อเป็นแบบนี้แล้วก็ขอบอกว่า "มีคนได้ก็มีคนเสีย" ซึ่งเป็นลักษณะของ 0-sum game นะครับ เพราะไม่ได้มีอะไรงอกเงยออกมา

แต่ถ้าการกระทำเปลี่ยนแปลงไป ถือเราถือหุ้นไว้ ให้กิจการออกดอกออกผล กิจการมีผลผลิต มีบริการ มีเงินกำไรจากการประกอบธุรกิจ กำไรนี้ก็จะถูกนำมาแบ่งให้กับผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของบริษัท เมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีแต่คนได้ ถือหุ้นไว้ 20 ปี บริษัทจ่ายปันผลปีละ 8-10% ก็เท่ากับได้หุ้นฟรีๆ แล้ว และถ้าหุ้นเติบโตอีก คราวนี้ยิ่งสบาย เพราะการจ่ายปันผลแต่ละปีที่ผ่านไปก็จะมากขึ้นๆ

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันหรือโลกไม่สวยงามอย่างที่เป็นแบบในย่อหน้าที่ผ่านมา คือถ้าหุ้นนั้นเป็นของบริษัทที่ไม่มีกำไร การถือหุ้นนั้นไว้อาจจะกลายเป็น 0-sum game ได้ เพราะไม่มีเงินจากภายนอกเข้ามาเติมในระบบ และหากแย่กว่านั้นแล้ว ถ้าเป็นหุ้นของบริษัทที่ขาดทุนตลอดเรื่อยๆ อันนี้ก็กลายเป็น negative-sum game ได้เหมือนกัน คือใครที่เข้าไปยุ่งกับมัน ก็เป็นอันขาดทุนตลอด สินทรัพย์ที่ถือไว้มีแต่ลดค่าลงๆ ไม่ใช่เพิ่มขึ้น ทำไปทำมาบริษัทนั้นๆ ก็จะต้องเพิ่มทุน ดึงเงินจากกระเป๋านักลงทุนเติมเข้าไปทดแทนเงินส่วนทุนที่หายไปเนื่องจากการขาดทุนที่เกิดขึ้น

บางท่านอาจจะสงสัยว่าจะมีผู้ที่ถือหุ้นนานๆ เพื่อรับปันผลกัตสักเท่าไรเชียว ผมว่าก็มีไม่น้อยนะครับ คงมีคนจำนวนหนึ่งที่ถือหุ้นจนลืม รับปันผลไปเรื่อยๆ มีรายได้จากพอร์ตโฟลิโอมากกว่ารายจ่ายหลายเท่าตัว และสามารถนำเงินในอัตราหนึ่งกลับไปลงทุนเพิ่มอีกเพื่อหนีเงินเฟ้อมากขึ้นไปอีก (จริงๆ แล้ว ผลตอบแทนจากบริษัทต่างๆ ก็มักจะหนีเงินเฟ้อได้ในตัวอยู่แล้ว ยิ่งบริษัทมีการเติบโตด้วยแล้ว ยิ่งหนีได้เป็นกำลังสอง และหากนักลงทุนสามารถแบ่งเงินบางส่วนจากปันผลใส่ลงไปลงทุนทบต้นได้อีก ก็เป็นการหนีเงินเฟ้อกำลังสามเลยเชียว) อย่างนี้ ก็จะเป็นอิสระทางการเงินอย่างแท้จริงนะครับ แต่เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามวันหรือคืน แต่ต้องอาศัยเวลา เวลาที่ให้ธุรกิจได้ทำงาน ทำกิจการสร้างผลกำไรกลับคืนสู่ผู้เป็นเจ้าของบริษัท เข้าทำนอง "รวยง่ายก็ไม่เร็ว"แต่ก็ยั่งยืนครับ