วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

กลัววิกฤติ

 

ในสภาวะตลาดขาขึ้นเช่นนี้ หลายๆ คนอาจจะมีคำถามในใจว่า ตลาดขึ้นมานั้นจริงหรือไม่ อย่างไร วิกฤตการเงินการลงทุนที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยหรือ  "ต้มยำกุ้ง" กำลังจะกลับมาเกิดอีกหรือไม่ หุ้นที่ขึ้นไปแล้วจะลงหรือไม่ อย่างไร ล้วนเป็นคำถามที่แสดงถึงความกังวลและการคิดที่รอบคอบขึ้น หรืออาจจะปนด้วยความกลัวด้วยก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่จะว่าไปแล้วก็ล้วนเป็นสิ่งที่น่าคิดทั้งสิ้น

สำหรับตัวผมเองที่เป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ร่วมกันกับเพื่อนๆ ทุกท่าน ผมมองคำว่าวิกฤติว่าแบ่งออกเป็นสองอย่าง คือวิกฤติเรากับวิกฤติเขา วิกฤติเราชื่อก็บอกตรงๆ ว่าผมถือว่าเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นโดยตรงกับเมืองไทย คือเหตุเกิดที่นี่ อย่างต้มยำกุ้งนี่เรียกว่าวิกฤติจริงในวันนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป นโยบายการเงินการคลังเปลี่ยนแปลงไป เศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงไป มีทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม แม้ว่าถ้าดู GDP แล้วเรามีรายได้จากอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่อุตสาหกรรมของเรามีหลายหลาก ตั้งแต่เกษตร อาหาร เสื้อผ้า รถยนต์ ปิโครเคมี ไล่ไปจนถึงอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถ้าดูกันจริงๆ แล้วเรามีรายได้หลากหลาย ทำให้โอกาสที่จะเกิดวิกฤติเราในเวลานี้ค่อนข้างน้อยและยังมองไม่เห็นชัดนัก

ส่วนวิกฤติอีกอย่างหนึ่งคือ วิกฤติเขาซึ่งหมายถึงสิ่งที่เกิดที่ต่างประเทศ ซึ่งเมื่อกิดขึ้นเราก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง ที่จะกระทบจริงๆ ก็เป็นธุรกิจที่บอบบางเช่นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งโชคดีที่ว่าเราไม่มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องสำหรับธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์มากนัก ธุรกิจอุสาหกรรมส่งออกเช่นรถยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (ส่วนนี้เป็นส่วนที่น่ากังวลกว่าเพราะมีส่วนที่ต่อเนื่องมากกว่า) นอกจากนั้นแล้ว เราก็ยังอยู่ได้ คือเป็นระบบที่อยู่ได้ด้วยตัวเราเป็นส่วนใหญ่ แม้จะต้องปรับตัวกันบ้างก็ตาม

อีกอย่างหนึ่งผมมีมุมมองเรื่องวิกฤติที่อาจจะถือว่าเป็นทฤษฎีส่วนตัว (อาจจะเรียกว่า กฏของมือเก่าหัดขับ ก็ได้) คือทุกครั้งที่เกิดวิกฤติขึ้น ระยะเวลาที่มีปัญหาจะสั้นลงทุกครั้งไป The Great Depression ในอเมริกาใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะฟื้นตัวดี ต้มยำกุ้งใช้เวลา 3-5 ปีในการฟื้นตัว วิกฤติ Sub-prime ที่อเมริกาใช้เวลา 2 ปี วิกฤติยุโรปอาจจะใช้เวลาน้อยกว่านั้น (ถ้าเกิด) เพราะว่ามนุษย์เรามีความรู้มากขึ้น ฉลาดมากขึ้น และช่วยกันแก้ปัญหามากขึ้น อันนี้ผมมองมุมบวกโดยไม่คิดว่ามีการกลั่นแกล้งกันเข้ามาแทรกแซง

แต่เมื่อสมมติว่าเกิดวิกฤติขึ้นมาจริงๆ เราก็อาจจะขายหุ้นออกไปบางส่วน เพื่อรอรับกลับคืนเมื่อราคาลดลงมา ตรงนี้ต้องการการวางแผนที่ดี บางส่วนที่ว่านั้นจะเป็นสัดส่วนเท่าไรก็ขึ้นกับแต่ละบุคคล (อายุเท่าไร, ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเท่าไร, มีงานประจำ รายได้ประจำไหม แค่ไหน, มีเวลามากหรือน้อยอย่างไร, มีความรู้ในธุรกิจและตลาดมากน้อยอย่างไร, มีความชำนาญแค่ไหน, สภาพจิตใจเป็นอย่างไร เป็นต้น) มุมมองทางเทคนิคจะเข้ามาช่วยได้บ้างในแง่มุมนี้ แต่สำหรับบางคนที่พอร์ตไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมด ประกอบกับการงานปกติที่ไม่ค่อยมีเวลา มีเงินไหลเข้ามาจากการลงทุนอื่นหรือหน้าที่ประจำอื่นที่มั่นคงกว่า อาจจะไม่ทำอะไร แต่รอทะยอยซื้อเพิ่ม หรือแม้แต่ใช้ปันผลของหุ้นนั้นมาซื้อตัวเองเพิ่มขึ้นก็ได้ ซึ่งการตัดสินใจตรงจุดนี้ ขึ้นกับสภาวะของแต่ละบุคคลจริงๆ คือ การลงทุนเป็นเรื่องส่วนตัวมาก สภาพของผู้ลงทุนที่ต่างกัน ก็เหมาะกับการตัดสินใจที่ต่างกันครับ