วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประหยัดขึ้น-ฟุ่มเฟือยน้อยลง


สักพักหนึ่งมาแล้ว มีการพูดคุยกันในกระทู้เรื่อง "จริงหรือไม่ที่เมื่อเป็นนักลงทุนแล้วทำให้ประหยัดขึ้น ลดความฟุ่มเฟือยลง" นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเลยทีเดียว มีการพูดคุยกันค่อยข้างกว้างขวาง แต่เพื่อนๆ จำนวนมากก็ค่อนข้างที่จะเห็นด้วยกับหัวกระทู้ที่ตั้งขึ้น นัยหนึ่งลึกๆ อาจจะเพราะว่า เมื่อเราได้ลงทุนแล้ว อย่างน้อยเงินที่ลงทุนนั้นก็ยังเหลือสักส่วนหนึ่ง (ถึงหุ้นตก ก็ไม่ได้กลายเป็นศูนย์ ถ้าเราไม่ได้ไปซื้อหุ้นปั่น หรือเผลอเก็บอนุพันธ์ ที่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นหุ้นแต่อย่างใด เอาไว้จนหมดอายุ) และเมื่อถือหุ้นไว้ ก็มักจะได้ปันผล ในจิตสำนึกแล้ว ก็จะเห็นว่าในเมื่อเราสามารถซื้อของที่เป็นสินทรัพย์ แล้วมันสามารถทำเงินให้เราได้ทั้งๆ ที่เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ต้องทำอะไร แล้วเราจะไปซื้อของที่สุดท้ายก็กลายเป็นขยะรกบ้านทำไมล่ะ (turn cash to trash)

อีกความรู้สึกหนึ่งของนักลงทุน (หรือผู้มีเงินเหลือแล้วซื้อหุ้น หรือลงทุนอย่างอื่น) ก็คือการที่ได้ซื้อของ มันก็เป็นการ shopping จับจ่ายอย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่าเป็นการจ่ายเงินซื้อของที่สุดท้ายแล้วสามารถสร้างรายได้กลับมาได้ ไม่ใช่กลายเป็นขยะในเวลาต่อมา ซึ่งนี่คือข้อแตกต่างที่สำคัญที่สุดของคนรวย และคนจนก็คือ

คนรวย - จ่ายเงิน เพื่อสร้างระบบ หรือซื้อ/สร้างสินทรัพย์ที่สามารถให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินที่จ่ายไปนั้น (ถ้าให้ดีด้วย คือให้สินทรัพย์นั้นทำงานเองได้โดยที่ตัวเองไม่ต้องทำอะไร)

คนจน - จ่ายเงินเพื่อซื้อของที่สุดท้ายไม่ค่อยมีประโยชน์ หรืออาจจะนำพามาซึ่งภาระผูกพันอันจะทำให้ต้องสูญเสียเงินไปเรื่อยๆ อีกในระยะยาว

การที่คิดว่า จะจ่ายเงินสุรุ่ยสุร่ายออกไปทำไม ในเมื่อมีทางเลือกที่ดีกว่าคือการนำเงินนั้นไปซื้อของหรือสินทรัพย์ที่สามารถทำเงินให้เราได้เรื่อยๆ โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร แล้วเราจะซื้อของที่เป็นขยะ หรือของที่เป็นของดี ล่ะ

อย่างไรก็ตามสำหรับผมแล้ว เงิน เป็นสิ่งที่ต้องใช้อย่างถูกต้อง การมีเงินแล้วเอาแต่เก็บเงิน (ฝังตุ่มหรือเก็บไว้ในที่ๆ ไม่เกิดผลงอกเงย) ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับใครเลย คนอื่นเอาไปใช้ก็ไม่ได้ (ไม่เหมือนฝากธนาคาร คนอื่นยังกู้ไปใช้ได้ เงินได้ไปทำงาน) ไม่ใช่สิ่งที่สำควรทำ มีเงิน ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง คือทำให้ตัวเองมีความสุขบ้างมีเท่าไร ลงทุนหมด เก็บหมด มันก็ไม่ไหว ต้องรู้จักแบ่งตามสมควรครับ